วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โรคฉี่หนู

โรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) , โรคฉี่หนู หรือ หรือไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) สามารถติดโรคได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์เลี้ยงในบ้าน เป็นต้น แต่พบมากใน หนู ซึ่งเป็นแหล่งรังโรค ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว มีน้ำขัง
สาเหตุ
โรคเล็ปโตสไปโรซิส มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียว (spirochete) ชื่อ เล็บโตสไปร่า อินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans) ซึ่งมีความหลากหลายทางซีโรวิทยามากกว่า 200 ซีโรวาร์ (serovars) เชื้อชนิดนี้อาศัยอยู่ในท่อหลอดไตของสัตว์ได้หลายชนิด โดยมีหนูเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญที่สุด บางซีโรวาร์มีความจำเพาะกับสัตว์บางชนิด เชื้อสามารถมีชีวิตได้นานหลายเดือนหลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อ สัตว์อื่นๆที่เป็นแหล่งรังโรค ได้แก่ สุกร โค กระบือ สุนัข แรคคูณ โดยที่สัตว์อาจจะไม่มีอาการแต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิตสัตว์ จากการสำรวจเมื่อปีพ.ศ. 2540 โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พบภูมิคุ้มกันใน ควาย 31% โค 28.25% แพะแกะ 27.35% สุกร 2.15%

อาการและอาการแสดง
อาการและอาการแสดงของโรคเล็ปโตสไปโรซิสนั้นมีได้ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต กว่า 90% ของผู้มีอาการจะมีอาการเล็กน้อยและมักเป็นแบบไม่เหลือง ส่วนเล็ปโตสไปโรซิสที่มีอาการรุนแรงนั้น พบได้ 5-10% ของผู้ติดเชื้อ
โรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง (anicteric leptospirosis) แบ่งเป็น 2 ระยะ
ระยะมีเชื้อในเลือด (leptospiremic phase) ระยะนี้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งในโรคเล็ปโตสไปโรซิสจะมีลักษณะเฉพาะคือ ปวดบริเวณน่อง หลัง และหน้าท้อง ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการปวดศีรษะมาก โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าหรือหลังเบ้าตา อาการอื่นๆที่อาจพบได้ ได้แก่ เจ็บคอ ไอ เจ็บหน้าอก ผื่น สับสน ไอเป็นเลือด อาการแสดงที่อาจตรวจพบ ได้แก่ เยื่อบุตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต คอแดง กดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ ตับม้ามโต อาจพบอาการดีซ่านได้เล็กน้อย อาการในระยะนี้จะหายไปได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ช่วงที่ไม่มีอาการจะนาน 1-3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่สอง
ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ (leptospiruric phase) ระยะนี้เป็นผลมาจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการและอาการแสดงมีความจำเพาะและความรุนแรงน้อยกว่าในระยะแรก ลักษณะที่สำคัญของโรคในระยะนี้คือ กว่า 15% ของผู้ป่วยจะมีอาการและอาการแสดงของภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไร้เชื้อ (aseptic meningitis) ส่วนใหญ่พบในเด็ก ซึ่งอาจหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วันหรืออาจคงอยู่นานเป็นสัปดาห์ สำหรับภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น ม่านตาอักเสบ จอตาอักเสบ มักเกิดตามหลังอาการเริ่มแรกของโรคนานหลายเดือน และคงอยู่ได้นานเป็นปี
โรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรง (severe leptospirosis)
โรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรง หรือกลุ่มอาการเวล (Weil's Syndrome) กลุ่มอาการนี้มีอัตราการตายอยู่ที่ประมาณ 5-15% พบได้เป็นพิเศษในการติดเชื้อในซีโรวาร์ อิกเทอโรฮีมอราเจียอี/โคเปนเฮเกไน (icterohaemorrhagiae/copenhageni) อาการในระยะเริ่มแรกไม่ต่างจากโรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง แต่ไม่มีลักษณะที่แบ่งออกเป็นสองระยะชัดเจน มักแสดงอาการรุนแรงใน 4-9 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ประกอบด้วย
·         อาการดีซ่าน ที่พบในกลุ่มอาการเวล จะมีลักษณะเหลืองมากจนแทบเป็นสีส้มเมื่อสังเกตทางผิวหนัง มักพบตับโตร่วมกับกดเจ็บ ประมาณ 20% ของผู้ติดเชื้อมีอาการม้ามโตร่วมด้วย มีไม่มากนักที่เสียชีวิตจากภาวะตับวาย
·         ไตวายเฉียบพลัน
·         อาการทางปอด เช่น ไอ มีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย จนถึงระบบหายใจล้มเหลว
·         ความผิดปกติทางระบบการแข็งตัวของเลือด มีตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น เลือดกำเดา จ้ำเลือดตามผิวหนัง ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในช่องเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น
·         อาการอื่นๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อลายสลายตัว เม็ดเลือดแดงแตก เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอ่อนอักเสบรุนแรง ภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ เป็นต้น

การดำเนินโรค
โรคเล็ปโตสไปโรซิส ติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ติดต่อกันโดยการสัมผัสกับปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ เช่น
·         การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
·         การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะ หรือ ของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
·         เข้าผ่านเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา และปาก
·         ไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน
·         ไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนานๆ
ระยะฟักตัวของโรคใช้เวลา 1-2 สัปดาห์แต่อาจนานได้ถึง 3 สัปดาห์ แบ่งเป็นระยะมีเชื้อในเลือด (leptospiremic phase) ซึ่งจะเริ่มแสดงอาการและส่วนใหญ่จะหายไปเองใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นอีก 1-3 วันจะเข้าสู่ระยะมีเชื้อในปัสสาวะ (leptospiruric phase) ผู้ป่วยบางส่วนจะแสดงอาการอีกครั้ง ประมาณ 5-10% ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการของโรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรง
โรคเล็ปโตสไปโรซิสแพร่กระกายและเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงปลายฤดูฝน พบบ่อยในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน เพราะช่วงนี้พื้นดินแฉะ มีน้ำขัง เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและสะสมของเชื้อในรรมชาติ พบโรคนี้ได้มากตามจังหวัดที่ทำการปลูกข้าว บริเวณที่ต้องย่ำน้ำ หรือแหล่งน้ำขังที่มีพาหะนำโรคชุกชุม อาจรวมถึงบ่อน้ำขนาดใหญ่ด้วย
กลุ่มประชากรบางกลุ่มถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค ได้แก่
·         สัตวแพทย์
·         ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง
·         การสันทนาการและกีฬาทางน้ำ เช่น การว่ายน้ำ การเล่นเรือแคนู วินด์เซิร์ฟ สกีน้ำ ไตรกีฬา ฯลฯ
การป้องกัน
การป้องกัน ควรเริ่มจากการให้ความรู้ด้านสุขศึกษาแก่ กลุ่มเสี่ยง ซึ่งการป้องกันสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
1.               กำจัดหนู
2.               ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า
3.               หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ ของโรคดังกล่าว
4.               หลีกเลียงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
5.               หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร และไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปล่อยค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด เป็นต้น
6.               หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานานๆ
7.               รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากแช่ หรือ ยำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ
การรักษา
โรคเล็ปโตสไปโรซิสสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ควรให้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการเป็นอย่างช้า ระยะเวลาที่ให้นานอย่างน้อย 7 วัน โดยชนิดของยาปฏิชีวนะจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้
ระดับความรุนแรง
สูตรยา
ไม่รุนแรง
ด็อกซีไซคลิน (doxycycline) , 100 มิลลิกรัม รับประทาน วันละ 2 ครั้ง หรือ

แอมพิซิลลิน (ampicillin) , 500-750 มิลลิกรัม ทางหลอดเลือดดำ วันละ 4 ครั้ง หรือ

อะม็อกซิซิลลิน (amoxicillin) , 500 มิลลิกรัม รับประทาน วันละ 4 ครั้ง
รุนแรงปานกลางถึงมาก
เพนนิซิลลิน จี (penicillin G) , 1.5 ล้านยูนิต ทางหลอดเลือดดำ วันละ 4 ครั้ง หรือ

แอมพิซิลลิน (ampicillin) , 1 กรัม ทางหลอดเลือดดำ วันละ 4 ครั้ง หรือ

อะม็อกซิซิลลิน (amoxicillin) , 1 กรัม รับประทาน วันละ 4 ครั้ง หรือ

อีริโธรไมซิน (erythromycin) , 500 มิลลิกรัม รับประทาน วันละ 4 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมียาในกลุ่มเซฟาโลสปอรินตัวใหม่ๆ อีกหลายตัวที่สามารถต้านเชื้อเล็ปโตสไปโรซิสได้ในห้องปฏิบัติการ แต่ยังไม่มีการผลการรักษาทางคลินิกที่แน่ชัด

อหิวาตกโรค

             อหิวาตกโรค หรือ ห่า (อังกฤษ: Cholera) คือ โรคระบาดชนิดหนึ่ง มีอาการท้องร่วง อาเจียน ร่างกายจะขับน้ำออกมาเป็นจำนวนมาก เรียกว่าอาการ "ลงราก" จึงเรียกโรคนี้ว่า "โรคลงราก" ก็มี และถ้าเกิดแก่ปศุสัตว์ เรียก "กลี"
สาเหตุ
             เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า วิบริโอ คอเลอเร (Vibrio Cholerae) sero group O1, หรือ O139, biotypes Classical และ เอลเทอร์ (EL Tor) วิบริโอ El Tor แต่ละ biotype มี serotypes inaba, Ogawa และ Hikojima (พบน้อยมาก)
             เกิดได้จากการ กินอาหารปรุงสุกฯดิบฯ อาการ อ่อนเพลีย ท้องเสีย อาเจียน มีไข้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ วิธีป้องกัน ไม่ควรกินอาหารปรุงสุกฯดิบฯ ใช้ช้อนตักอาหาร ไม่ควรใข้มือ ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องสุขา
การถ่ายทอดโรค
             โดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรค หรือพิษของเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งเกิดจากการจากอุจจาระหรืออาเจียนของผู้ป่วย แพร่กระจายอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค
ระยะเวลาฟักตัว
             ผู้ที่ได้รับเชื้อ จะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ถึง 5 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1 - 2 วัน


อาการ
  1. เป็นอย่างไม่รุนแรง พวกนี้มักหายภายใน 1 วัน หรืออย่างช้า 5 วัน มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ วันละหลายครั้ง แต่จำนวนอุจจาระไม่เกินวันละ 1 ลิตร ในผู้ใหญ่อาจมีปวดท้องหรือ คลื่นไส้อาเจียนได้
  2. เป็นอย่างรุนแรง อาการระยะแรก มีท้องเดิน มีเนื้ออุจจาระมาก ต่อมามีลักษณะเป็นน้ำซาวข้าว เพราะว่ามีมูกมาก มีกลิ่นเหม็นคาว ถ่ายอุจจาระได้โดยไม่มีอาการปวดท้อง บางครั้งไหลพุ่งออกมาโดยไม่รู้สึกตัว มีอาเจียนโดยไม่คลื่นไส้ อุจจาระออกมากถึง 1 ลิตร ต่อชั่วโมง และจะหยุดเองใน 1 - 6 วัน ถ้าได้น้ำและเกลือแร่ชดเชยอย่างเพียงพอ แต่ถ้าได้น้ำและเกลือแร่ทดแทนไม่ทันกับที่เสียไป จะมีอาการขาดน้ำอย่างมาก ลุกนั่งไม่ไหว ปัสสาวะน้อย หรือไม่มีเลย อาจมีอาการเป็นลม หน้ามืด จนถึงช็อค ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย
  1. งดอาหารที่มีรสจัดหรือเผ็ดร้อน หรือ ของหมักดอง
  2. ดื่มน้ำชาแก่แทนน้ำ บางรายต้องงดอาหารชั่วคราว เพื่อลดการระคายเคืองในลำไส้
  3. ดื่มน้ำเกลือผง สลับกับน้ำต้มสุก ถ้าเป็นเด็กเล็กควรปรึกษาแพทย์
  4. ถ้าท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบนำส่งแพทย์ด่วน
การป้องกัน
  1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างสะอาด ทุกครั้งก่อนใช้ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง สุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม
  2. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร และหลังเข้าส้วม
  3. ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรื่ยราด ต้องถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และกำจัดสิ่งปฏิกูลโดยการเผาหรือฝังดิน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค
  4. ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง
  5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค
  6. สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคนี้ ควรรับประทานยาที่แพทย์ให้จนครบ

โรคไข้หวัดใหญ่

             โรคไข้หวัดใหญ่ (อังกฤษ: influenza) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งบางปีอาจจะพบการระบาด พบเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยผู้ใหญ่ที่มีอาการตัวร้อนมา 2-3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งก็อาจพบการผิดพลาดได้

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสมีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ หรือจาม หรือการสัมผัสถูกมือของเครื่องใช้เปื้อนเชื้อโรค ระยะฟักตัว 1-4 วัน เชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิด เรียกว่า ชนิด เอ,บี และซี ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธ์ย่อยๆ ไปอีกมากมาย ในการเกิดโรคแต่ละครั้งจะเกิดจากพันธุ์ย่อยๆ เพียงพันธุ์เดียว ซึ่งเป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อพันธุ์นั้น เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์ อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ และมีการเรียกชื่อโรคที่ระบาดแต่ละครั้งตามชื่อของประเทศที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด
     

การระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก
การระบาดใหญ่เกิดขึ้นจากการอุบัติของไวรัสชนิดใหม่ เรียงลำดับดังนี้
พ.ศ. 2461-2462 (ค.ศ.1918-1919) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย (subtype) H1N1 (ในยุคนั้นยังไม่สามารถตรวจแยกเชื้อได้ การตรวจชนิดของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นภายหลัง) มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่สเปน (Spainish flu) เป็นการระบาดทั่วโลกครั้งร้ายแรงที่สุด คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 50 ล้านคน (มากกว่าผู้คนที่เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก) เป็นผู้ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาถึงกว่า 500,000 คน
พ.ศ. 2500-2501 (ค.ศ.1957-1958) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H2N2 มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian flu) เริ่มที่ตะวันออกไกลก่อนระบาดไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต 70,000 คนในสหรัฐอเมริกา การระบาดในครั้งนี้สามารถตรวจพบและจำแนกเชื้อได้รวดเร็ว และผลิตวัคซีนออกมาฉีดป้องกันได้ทัน จึงมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก
พ.ศ. 2511-2512 (ค.ศ.1968-1969) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H3N2 มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong flu) รายงานผู้ป่วยรายแรกเป็นชาวฮ่องกง แล้วจึงแพร่กระจายออกไป มีผู้เสียชีวิตประมาณ 34,000 คนในอเมริกา เป็นชนิดย่อยที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไข้หวัดใหญ่เอเชีย (H2N2) จึงมีผู้ป่วยจำนวนไม่มากนัก เพราะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว
พ.ศ. 2520-2521 (ค.ศ.1977-1978) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H1N1 กลับมาระบาดใหม่ มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian flu) เริ่มระบาดที่ประเทศจีนตอนเหนือแล้วกระจายไปทั่วโลก ทราบภายหลังว่าเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่กระจายอยู่ทั่วไปก่อนปี พ.ศ. 2500 คือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (H1N1) ที่ระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2461-2462 (ก่อนถูกแทนที่ด้วยไข้หวัดใหญ่เอเชีย คือชนิดย่อย H2N2 ในปี พ.ศ. 2500) ผู้ที่อายุเกิน 23 ปีในขณะนั้น ส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานโรคแล้วจากการระบาดครั้งก่อน จึงเกิดโรครุนแรงเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 23 ปี ที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้เท่านั้น
พ.ศ. 2552 (ค.ศ.2009) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H1N1 เป็นไวรัสที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่นก ไข้หวัดใหญ่หมูและไข้หวัดใหญ่มนุษย์ เกิดเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่พันธุ์ผสม กลับมาระบาดอีกครั้ง มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก (Mexican flu) หรือชื่อใหม่ว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H1N1 2009 เริ่มระบาดที่ประเทศเม็กซิโกเมื่อเดือน มี.ค.แล้วกระจายสู่สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ฯลฯ
ไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดต่างกันอย่างไร?
ไข้หวัดใหญ่พบมากทุกอายุ โดยเฉพาะในเด็กจะพบมากเป็นพิเศษ แต่อัตราการตายมักจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต เป็นต้น การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ป้องกันได้ผลมากที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดโรคแทรกซ้อน และลดการหยุดงาน ไข้หวัดเป็นการติดเชื้อไวรัสทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหลมีไข้ไม่สูง สำหรับไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อจากไวรัส ที่เรียกว่า "Influenza virus" เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจซึ่งอาจจะลามลงไปปอด ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเร็ว ไข้สูงกว่าไข้หวัด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างฉับพลัน
ในปี ค.ศ. 2003 ได้มีการแนะนำเรื่องไข้หวัดใหญ่ดังนี้
1.               ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีน คือ เดือนตุลาคม และ พฤศจิกายน (เนื่องจากเชื้อนี้มักจะระบาดในต่างประเทศ หากประเทศเราจะฉีดก็น่าจะเป็นช่วงเดียวกัน) โดยเน้นไปที่ประชาชนที่มีอายุ 50 ปี,เด็กอายุ 6-23 เดือน,คนที่อายุ 2-49 ปีที่มีโรคประจำตัวกลุ่มนี้ให้ฉีดในเดือนตุลาคม ส่วนกลุ่มอื่น เช่นเด็ก เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ผู้ดูแลคนป่วย กลุ่มนี้ให้ฉีดเดือนพฤศจิกายน
2.               เ ด็กที่อายุ 6-23 เดือน ควรจะฉีดทุกรายโดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย
3.               ชนิดของวัคซีนที่จะฉีดให้ใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของเชื้อ A/Moscow/10/99 (H3N2) -like, A/New Caledonia/20/99 (H1N1) -like, และ B/Hong Kong/330/2001
4.               ให้ลดปริมาณสาร thimerosal ซึ่งเป็นสารปรอท
อาการ
มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขนต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ จุกแน่นท้อง แต่บางรายอาจไม่มีอาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดเลยก็ได้ มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดใหญ่มักเป็นหวัดน้อย แต่หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก ไข้มักเป็นอยู่ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง อาการไอและอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่นๆ จะหายลงแล้ว บางรายเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการเวียนศีรษะเมารถเมาเรือเนื่องจากการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งมักจะหายเอง ใน 3-5 วัน
1.               ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ระยะฟักตัว 1-4วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน
·         ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างฉับพลัน
·         เบื่ออาหาร คลื่นไส้
·         ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
·         ปวดตามแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบตา
·         ไข้สูง 39-40 ํc
·         เจ็บคอ และ คอแดง มีน้ำมูกใสไหล
·         ไอแห้ง ๆ
·         ตามตัวจะร้อน แดง ตาแดง
·         อาการอาเจียน หรือท้องเดิน ไข้เป็น 2-4 วันแล้วค่อย ๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูก และแสบคอยังคงอยู่โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์
1.               สำหรับรายที่เป็นรุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อนมักจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นด้วย เช่น
·         อาจพบการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรืออาการหัวใจวาย ผู้ป่วยจะเหนื่อยหอบ
·         ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง
·         ระบบหายใจ มีหลอดลมอักเสบ และปอดบวมผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย
·         โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายมีอาการไอ และปวดตามตัวนาน 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เสียชีวิตมักจะเกิดจากปอดบวม และโรคหัวใจ หรือโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่

สิ่งตรวจพบ
ไข้ 38.5-40 องศาเซลเซียส หน้าแดง เปลือกตาแดงอาจมีน้ำมูกใสๆ คอแดงเล็กน้อยหรือไม่แดงเลยก็ได้ ส่วนมากมักตรวจไม่พบอาการผิดปกติอื่นๆ
อาการแทรกซ้อน
ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ ภาวะที่สำคัญคือปอดอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดกับจากแบคทีเรียพวก นิวโมค็อกคัส หรือสเตฟฟิโลค็อกคัส ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมักจะเกิดในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังทางปอดหรือหัวใจ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จะมีโอกาสแทรกซ้อนถึงตายได้นั้นนับว่าน้อยมาก มักจะเกิดขึ้นในเด็กเล็ก หรือผู้ป่วยเรื้อรัง
การติดต่อ
เชื้อนี้จะติดต่อได้ง่าย การติดต่อสามารถติดต่อได้โดย
1.               เชื้อสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยการหายใจได้รับน้ำมูก หรือ เสมหะของผู้ป่วยโดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก
2.               การที่คนได้สัมผัสสิ่งที่ปนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ การจูบ
3.               การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตา หรือ เอาเข้าปาก
ระยะติดต่อ
ระยะเวลาที่ติดต่อคนอื่นคือ 1 วันก่อนเกิดอาการ, 5 วันหลังจากมีอาการ ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่จะอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลักโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ การวินิจฉัยที่แน่นอนอาจจะทำได้ 2 วิธีคือ
·         นำไม้พันสำลีแหย่ที่คอ หรือจมูก แล้วนำไปเพาะเชื้อ
·         เจาะเลือด
o    ตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโดยต้องเจาะ 2 ครั้งห่างกัน 2 ชั่วโมงแล้วเปรียบการเพิ่มของภูมิต่อเชื้อ
o    การตรวจหา Antigen
o    การตรวจโดยวิธี PCR,Imunofluorescent
โรคแทรกซ้อน
ติดเชื้อแบคทีเรีย อาจจะทำให้ปอดบวม ฝีในปอด หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ ไข้หวัดใหญ่ในหญิงมีครรภ์ ยังผลต่อมารดามักเป็นชนิดรุนแรงและมีอาการมาก ผลต่อเด็กอาจจะทำให้แท้ง
การรักษา
ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนท่านผู้อ่านสามารถดูแลตัวเองที่บ้าน
·         ให้นอนพักไม่ควรออกกำลังกาย
·         ให้ดื่มน้ำ หรือ น้ำผลไม้ หรือน้ำซุป หรืออาจจะดื่มน้ำเกลือแร่ ร่วมด้วย แต่ไม่ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว เพราะจะทำให้ท่านขาดเกลือแร่ได้ หรืออาจจะเตรียมโดยใช้น้ำข้าวใส่เกลือ และน้ำตาลก็ได้
1.               ให้การดูแลปฏิบัติตัว และรักษาตามอาการเหมือนไข้หวัด คือ นอนพักผ่อนมากๆ ห้ามตรากตรำทำงานหนัก ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง กินอาหารอ่อน ดื่มน้ำและน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ ให้ยาแก้ปวด Paracetamol ผู้ใหญ่ ครั้งละ 1-2 เม็ด (500 มิลลิกรัม) วันละ 2-3 ครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน
2.               ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้เพราะเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส จะให้ก็ต่อเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น น้ำมูกหรือเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว ยาปฏิชีวนะที่มีให้เลือกใช้ ได้แก่ เพนวี ขนาดผู้ใหญ่ ให้ครั้งละ 4 แสนยูนิต ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง วันละ4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน ในเด็กให้ครั้งละ 50,000 ยูนิต ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หรืออิริโทรไมซิน ผู้ใหญ่ ให้ครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ในเด็ก ให้วันละ 30-50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง
3.               ถ้ามีอาการหอบหรือสงสัยปอดอักเสบ ควรส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
ข้อแนะนำ
1.               โรคนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคร้ายแรง ส่วนมากให้การดูแลตามอาการก็จะได้เองภายใน 3-5 วัน ถ้ามีไข้เกิน7 วัน ควรสงสัยไข้อื่นๆ นอนจากไข้หวัด ควรพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาต่อไป
การป้องกัน
ปฏิบัติตัวเหมือนโรคหวัด
การรักษาตามอาการ และการประคับประคอง
·         ลดไข้ด้วยยาลดไข้ เช่น paracetamol ไม่ควรให้ aspirin ในคนที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปีเพราะอาจจะทำให้เกิด Reye syndrome ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าไอมากอาจจะซื้อยาแก้ไอรับประทาน
·         สำหรับผู้ที่เจ็บคออาจใช้น้ำ 1 แก้วผสมกับเกลือ 1 ช้อนกลั้วคอ แต่ห้ามดื่ม
·         สำหรับท่านที่มีอาการคัดจมูกอาจจะใช้ไอน้ำช่วยวิธีง่าย ๆ คือ ต้มน้ำร้อนแล้วให้นั่งหน้ากาน้ำเอาผ้าคลุมศีรษะและสูดดมไอน้ำ อาจจะใส่ vick หรือขิงลงไปเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก
·         อย่าสั่งน้ำมูกแรง ๆ เพราะจะทำให้เชื้อลุกลาม
·         ให้ล้างมือบ่อย ๆ เมื่อออกนอกบ้าน ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ให้หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ ลูกบิดประตู เป็นต้น
·         สวมผ้าปิดจมูก ป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น และช่วยป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เพราะ ระหว่างเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีภูมิต้านทานต่ำ
·         ไม่อยู่ใกล้ เด็ก หรือ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ
·         ช่วงที่มีการระบาดให้หลีกเลี่ยงจากที่สาธารณะ
ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อไร
ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้และท่านสามารถดูแลตัวเองที่บ้าน แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวท่าน
ผู้ป่วยเด็ก
ในเด็กควรจะปรึกษาแพทย์เมื่อ
·         ไข้สูง และเป็นนาน
·         ให้ยาลดไข้แล้วไข้ยังเกิน 38.5ํ c
·         หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
·         มีอาการมากกว่า 7 วัน
·         ผิวสีม่วง
·         เด็กดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารไม่พอ
·         เด็กซึมลง ไม่เล่น
·         เด็กไข้ลดลง แต่หายใจหอบ
ผู้ป่วยผู้ใหญ่
สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่
·         ไข้สูง และเป็นมานาน
·         หายใจลำบาก หรือหายใจหอบ
·         เจ็บหรือแน่นหน้าอก
·         หน้ามืดเป็นลม
·         สับสน
·         อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้
ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรพบแพทย์ทันทีที่เป็นไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่
·         ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เบาหวาน หอบหืด มะเร็ง เป็นต้น
·         คนท้อง
·         ผู้ป่วยโรคเอดส์
·         ผู้ที่พักในบ้านพักคนชรา
·         ผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป
ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการต่อไปนี้ต้องเข้าโรงพยาบาล
·         มีอาการขาดน้ำ ไม่สามารถดื่มน้ำได้อย่างเพียงพอ
·         ไอ แล้วเสมหะมีเลือดปน
·         หายใจลำบาก หายใจหอบ
·         สีริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียว
·         ไข้สูงมากผู้ป่วยเพ้อ
·         มีอาการไข้ และไอหลังจากที่อาการไข้หวัดใหญ่หายไปแล้ว
การรักษาในโรงพยาบาล
·         ผู้ป่วยที่ขาดน้ำแพทย์จะให้น้ำเกลือ
·         ผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับยา amantadine และ rimantadine เพื่อให้หายเร็ว และลดความรุนแรงของโรคยานี้ควรให้ภายใน 48 ชั่วโมงหลัง* จากเริ่มมีอาการและให้ต่อ 5-7 วัน ยานี้ไม่ช่วยลดโรคแทรกซ้อน
·         ถ้ามีอาการคัดจมูกแพทย์จะให้ยาลดน้ำมูก
·         ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนก็ไม่ควรให้ยาปฏิชีวนะ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะหายใน 2-3 วัน ไข้จะหายใน 7 วัน อาการอ่อนเพลียอาจจะอยู่ได้นาน1-2 สัปดาห์
การป้องกัน
·         ล้างมือบ่อยๆ
·         หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปากหรือขยี้ตา
·         อย่าใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ
·         หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด เมื่อเวลาเจ็บป่วย
·         ให้พักที่บ้านเมื่อเวลาป่วย
·         สวมผ้าปิดจมูก เวลาไอ หรือจาม
วัคซีนป้องกัน
การป้องกันที่ดี คือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อที่ตายแล้วโดยฉีดที่แขนปีละครั้ง หลังฉีด 2สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจึงจะสูงพอป้องกันการติดเชื้อ แต่การฉีดจะเลือกผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน คือ
·         ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี
·         ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวเช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ
·         ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
·         ผู้ป่วยโรคเอดส์
·         หญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป และมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
·         ผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา
·         เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
·         สมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรัง
·         นักเรียนที่อยู่รวมกัน
·         ผู้ที่จะไปเที่ยวยังแหล่งระบาดของไข้หวัดใหญ่
·         ผู้ที่ต้องการลดอัตราการติดเชื้อ
การใช้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่เพื่อรักษา
·         อะแมนตาดีน และ ไรแมนตาดีน เป็นยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาไวรัสไๆข้หวัดใหญ่ชนิด A ไม่ครอบคลุมชนิด B
·         ซานามิเวียร์ และ โอเซลทามิเวียร์ เป็นยาที่รักษาได้ทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิด A,B
การให้ยาภายใน 2 วันหลังเกิดอาการจะลดระยะเวลาเป็นโรค
จะใช้ยารักษาไข้หวัดกับคนกลุ่มใด
เราจะใช้ยากับคนกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ และยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโรคกลุ่มที่ควรจะได้รับยารักษา ได้แก่
·         คนที่อายุมากกว่า 65 ปี
·         เด็กอายุ 6-23 เดือน
·         คนท้อง
·         คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ
การให้ยาเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่
ยาที่ได้รับการรับรองว่าใช้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ อะแมนตาดีน ไรแมนตาดีน และ โอเซลทามิเวียร์ วิธีการป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน แต่ก็มีบางกรณีที่จำเป็นต้องให้ยาเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่
·         ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนไม่ทัน ทำให้ต้องได้รับยาในช่วงที่มีการระบาดของโรค
·         ผู้ที่ดูแลกลุ่มเสี่ยงและไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ควรจะได้รับยาในช่วงที่มีการระบาดของโรค
·         ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น โรคเอดส์
·         กลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน